วันที่ 22 ม.ค. 58 เวลา 8.30 น. นพ.สุรินทร์ กู้เจริญประสิทธิ์ และ นพ.ประพาศน์ รัชตะสัมฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พร้อมคณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ ให้การต้อนรับ นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการอบรมเรื่อง “Human Subject Protection Course” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักการแพทย์ และ ชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย (FERCIT) ระหว่างวันที่ 22 – 23 มกราคม 2558 ณ ห้องราชา 2 ชั้น 11 โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมจากบุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามเป้าหมายของโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 126 คน ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานและวิทยากรจากชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย (FERCIT)
นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับคนที่เกิดจากงานวิจัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยโดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ หรือ การสำรวจ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบต่ออาสาสมัคร ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตใจ ผู้ทำการวิจัยจะต้องปกป้องชีวิตสุขภาพ ความเป็นส่วนตัว และความมีศักดิ์ศรีของอาสาสมัคร การที่สำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักการแพทย์ และชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย (FERCIT) ได้ดำเนินการจัดการอบรมร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมบุคลากรในองค์กรให้พร้อมในการพัฒนามาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในคน ให้มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิจัยให้ทราบถึงหลักการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยตามหลักสากล
นพ.ประพาศน์ รัชตะสัมฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เพิ่มเติมว่า สำนักการแพทย์ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยในคนหรือที่เกี่ยวข้องกับคนที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานด้านต่างๆ รวมไปถึงการให้การสนับสนุนด้านการทำวิจัยในคนของบุคลากร จึงได้กำหนดเป็นแผนพัฒนาเฉพาะด้านนี้เพื่อให้มีระบบและระเบียบปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจหลักการและเกณฑ์การพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การประเมินความเสี่ยง คุณประโยชน์ที่อาสาสมัครในโครงการวิจัยจะได้รับกระบวนการขอความยินยอมผู้เข้าร่วมการวิจัยประเด็น พิจารณาด้านจริยธรรมในการวิจัยแบบต่างๆ การปฏิบัติที่ดีในการวิจัย วิธีดำเนินงานคณะกรรมการจริยธรรมที่เป็นมาตรฐาน และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจการพัฒนาคุณภาพการวิจัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วยเรื่องจริยธรรมการวิจัย |